พิพิธภัณฑ์ศิลปะเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของคุมาโมโตะ ส่วนใหญ่เก็บงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับมูซาชิ มิยาโมโตะ (1584–1645) นักดาบพเนจรที่เร่ร่อนไปทั่วญี่ปุ่น และใช้ชีวิตช่วง 5 ปีสุดท้ายที่คุมาโมโตะภายใต้การอุปถัมภ์ของ ทาดะโทชิ โฮโซคาวะ (1586–1641) เจ้าผู้ครองแคว้นและ มิทสึนาโอะ โฮโซคาวะ (1619–1650) ทายาทของทาดะโทชิ ผลงานส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับมูซาชิไม่เหลืออยู่แล้ว ที่ยังคงเหลืออยู่ถูกเก็บรักษาไว้ที่คุมาโมโตะ และคาดว่า 1 ใน 3 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เก็บรวบรวมโดย มาโตมิ ชิมาดะ (1886–1977) ผู้ชื่นชอบในศิลปะโบราณของญี่ปุ่น และได้จากโลกนี้ไปในปีที่ทำการเปิดพิพิธภัณฑ์

ในคอลเลคชั่นที่เก็บสะสมมีทั้งภาพวาด, ภาพวาดหมึก, จดหมาย และดาบ เป็นต้น ผลงานที่มีค่ามากที่สุดมักจะถูกนำมาจัดแสดงประมาณเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับการเสียชีวิตของมูซาชิ ผลงานที่เขียนลงในกระดาษ ไม่สามารถปล่อยให้โดนแสงในตอนกลางวันเป็นเวลานาน จึงต้องจัดแสดงโดยสลับหมุนเวียนตลอดทั้งปี

ภาพเหมือนของนักดาบ
ไฮไลต์ของคอลเลคชั่นคือ ภาพเหมือนอันโด่งดังของมูซาชิในช่วงบั้นปลายชีวิต หากมองดูตรงๆ ใบหน้าหันไปทางด้านซ้าย จึงเป็นที่รู้กันว่าเป็นรูปที่ถูกเขียนขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิต เพราะตามธรรมเนียมภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น ภาพแบบนี้โดยทั่วไปมีความหมายว่าบุคคลในภาพได้เสียชีวิตไปแล้ว คาดกันว่าผู้ที่วาดภาพคือบุคคลที่รู้จักมูซาชิเมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่และรู้จักปรัชญาของเขาเป็นอย่างดี สีหน้าและท่ายืนของมูซาชิ ตีความถึงขณะเผชิญหน้ากับศัตรู เป็นลักษณะที่วาดตาม "โกะริงโนะโชะ" หรือคัมภีร์ห้าห่วงในบทที่ว่าด้วยเรื่อง "น้ำ"

ภาพเหมือนนี้หากเปรียบเทียบกับงานชิ้นอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์เดียวกันที่วาดขึ้นช่วงปลายสมัยเอโดะ (1603–1868) จะเห็นว่าน่าสนใจมากทีเดียว หลังจากมูซาชิเสียชีวิตได้ไม่นาน เรื่องราวของเขากลายเป็นกึ่งเทพ ภาพที่วาดดูไม่เป็นธรรมชาติอย่างมาก สายตาเฉียบคม ผมประบ่า ถือดาบสองเล่มและเปลือยเท้าเปล่าอยู่เสมอ ภาพที่น่าจับตามองที่สุดในคอลเลคชั่น คือภาพวาดมูซาชิ ตอนดวลดาบเป็นครั้งแรกกับคิเฮ อาริมะ เมื่อเขาได้อายุ 13 ปี คือผมตั้ง ใบหน้าเกรียมแดด มือเท้าและหน้าอกปกคลุมไปด้วยขนที่หยิกแข็งกระด้าง รายละเอียดเหล่านี้ล้วนเป็นชีวประวัติที่ถูกนำเสนอหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว

ผลงานอื่นๆที่เกี่ยวกับมูซาชิ
คอลเลคชั่นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะนี้ ยังมีงานอื่นๆ ของมูซาชิ ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงนักดาบแต่ยังเป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญอีกด้วยเช่น ภาพวาดหมึก และสำเนาหนังสือ "โกะริงโนะโชะ" หรือคัมภีร์ห้าห่วงในบท "ลม" โดยสำเนาดังกล่าว มาโกโนะโจะ เทราโอะ ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาเป็นผู้ทำขึ้นในปี 1651 ส่วนต้นฉบับที่เขียนขึ้นโดยมูซาชิปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีดาบที่มูซาชิเคยใช้ปราบเหล่ายอดฝีมือแห่งสำนักโยชิโอกะ ที่ตกทอดมายังทายาทที่แยกออกจากตระกูลโฮโซคาวะ เก็บรักษาอยู่ด้วย รวมทั้งผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น กระบังดาบ รูปร่างคล้ายปลิงทะเลที่มูซาชิออกแบบให้มีน้ำหนักเบาที่สุด

ในห้องอื่นมีผลงานสมัยเอโดะ (1603–1868) และสมัยเมจิ (1868–1912) จัดแสดงอยู่ ส่วนที่คาเฟมีผลงานของศิลปินร่วมสมัย และมีสวนเล็กๆ เหมาะที่จะปล่อยอารมณ์ให้ล่องลอยหลังจากซาบซึ้งกับงานศิลปะมาอย่างเต็มอิ่ม

หากได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิมาดะ คุณอาจจะอยากไปดูถ้ำเรกันโดสถานที่สุดท้ายที่มูซาชิใช้ชีวิตอยู่ มีบริษัทรถแท็กซี่บางที่ จัดทัวร์เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะกับถ้ำเรกันโดให้คุณได้ใช้บริการด้วย