อาคารศิลปวัฒนธรรมจังหวัดคุมาโมโตะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทคุมาโมโตะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมทงานศิลปหัตถกรรมของคุมาโมโตะ ที่ร้านค้าชั้น 1 มีสินค้าหัตถกรรมหลากหลาย ส่วนที่ห้องจัดแสดงชั้น 2 มีการแสดงผลงานที่ทางจังหวัดกำหนดให้เป็นงานศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของคุมาโมโตะ

งานศิลปหัตถกรรมที่จัดแสดงอยู่ในห้องนี้ ได้แก่

• งานฝังประดับฮิโกะ (ฮิโกะโซกัง)
ฮิโกะโซกัง เป็นงานฝีมือโลหะประดับฝังทองหรือเงินลงไปในเนื้อเหล็กที่สลักลวดลาย จุดเริ่มต้นของฮิโกะโซกังนั้น ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 17 ที่พัฒนาขึ้นจากการสนับสนุนของผู้ครองแคว้น ทาดะโอกิ โฮโซคาวะ (1563-1646)

• เครื่องปั้นดินเผา
มีทั้งโชไดยากิ, โคดะยากิ และเครื่องปั้นดินเผาอะมะคุสะ ของคุมาโมโตะจัดแสดงอยู่ ทั้งหมดล้วนมีอายุราว 400 ปี

• หัตกรรมพื้นบ้าน
โคมไฟยามากะ ที่จำลองแบบมาจากศาลเจ้าหรือเจดีย์ เป็นงานหัตกรรมที่ทำจากกระดาษอย่างประณีต เป็นผลงานหลักๆ ที่จัดแสดงอยู่ ซึ่งโคมไฟจะถูกนำไปถวายยังศาลเจ้า มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปี

• ของเล่นพื้นบ้าน
ที่ห้องจัดแสดง มีของเล่นพื้นบ้านดั้งเดิมของคุมาโมโตะที่ได้รับความนิยมจัดแสดงอยู่ เช่น ตุ๊กตาลิงที่ทำจากดินเหนียว (โคโนะฮะ ซารุ), ตุ๊กตาที่ทำจากไม้ และฮิโกะมาริ คือลูกบอลสำหรับประดับตกแต่ง ได้จากการนำแกลบมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ให้เป็นแกนแล้วพันด้วยเส้นฝ้ายย้อมสี เป็นต้น

• ของที่ใช้ประโยชน์ได้จริง
งานฝีมืออื่นๆ ที่จัดแสดงอยู่ มีทั้งกล่องและตะกร้าที่ทำจากไม้ไผ่สาน, งานไม้ประเภทเครื่องเรือนและงานแกะสลักกรอบวงกบ, พัดคุตามิ ที่ได้จากการติดกระดาษญี่ปุ่นลงไปบนโครงไม้ไผ่ เป็นต้น

เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีของเมืองซามูไรที่จำเป็นต้องมีช่างตีดาบ ปัจจุบันช่างฝีมืองานโลหะจึงยังคงผลิตมีดที่มีคุณภาพสูงออกมาอยู่เสมอ ตั้งแต่มีดทำครัวไปจนถึงกรรไกรตัดกิ่งไม้ ในบรรดางานฝีมือที่มีขนาดใหญ่ที่จัดแสดงอยู่นั้น มีตัวอย่างกระเบื้องประดับรูปยักษ์ (โอนิงาวาระ) และรูปพยัคฆ์มัสยาหรือปลาคาร์ฟที่มีหัวเป็นเสือ (ชาจิโฮโกะ) ที่จะเห็นได้ตามหลังคาหอคอยเทนชุคาคุของปราสาทคุมาโมโตะ และกลองญี่ปุ่นที่ทำจากการผ่าคว้านเนื้อไม้

งานฝีมือที่จัดแสดงอยู่ หลายชิ้นมีคำอธิบายวิธีการทำประกอบด้วย งานฝีมือบางชิ้นสามารถลองจับดูได้ ที่ร้านค้าชั้น 1 มีสินค้าของฝากที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุมาโมโตะ และยอดขายของที่นี่มีส่วนช่วยรักษาประเพณีดั้งเดิมของงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป