คะโต คิโยมาสะ (1562–1611) ผู้ครองแคว้นฮิโกะ (คุมาโมโตะ) คนแรก ได้รับการเซ่นไหว้บูชา ในฐานะเทพเจ้าประจำศาลเจ้าคะโต แต่สุสานจริงๆ อยู่ที่วัดฮงเมียวจิ เขตนิชิคุ เมืองคุมาโมโตะ

ทุกปีในช่วงปีใหม่ ( 3 วันแรก) จะมีผู้มาสักการะศาลเจ้าคะโตประมาณกว่า 4 แสนคน และถูกเรียกขานจากคนในพื้นที่ว่า “เซโชโกะซัง” ในฐานะเทพเจ้าแห่งความโชคดี ท่านคิโยมาสะปกครองภาคเหนือของคุมาโมโตะเมื่อปี 1588 และในปี 1600 ก็ได้ปกครองคุมาโมโตะทั้งหมด เป็นผู้ริเริ่มการจัดการเกี่ยวกับน้ำที่แม่น้ำหลายสายตามชนบท ทำให้พื้นที่นี้มีความปลอดภัยและเปลี่ยนแปลงผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ นับเป็นการวางรากฐานให้กับคุมาโมโตะในปัจจุบัน

เทพเจ้าแห่งการก่อสร้างและการต่อสู้

ด้วยพรสวรรค์ในด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโยธา คะโต คิโยมาสะ จึงได้รับการยกย่องจากสถาปนิกและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านงานก่อสร้างทั้งหลาย ท่านคิโยมาสะเคยเข้าร่วมสงครามอิมจิน (1592–1598) รวมถึง “ยุทธการที่เซกิงาฮาระ” (1600) ซึ่งเป็นยุทธการแตกหักและกรุยทางสู่การจัดตั้งรัฐบาลโชกุนของโตกุกาวะ โดยท่านไม่เคยพ่ายแพ้เลยแม้แต่ครั้งเดียว จึงได้รับการบูชาจากนักกีฬาทั้งเบสบอล, เคนโด้ และกรีฑาของญี่ปุ่น ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการแข่งขัน ท่านคิโยมาสะยังเป็นที่ศรัทธาในฐานะเทพเจ้าแห่งการเอาชนะความเจ็บป่วยและมีชัยในการสอบที่ยากๆ ได้ โดยเฉพาะชื่อ “คะโต” นั้นออกเสียงพ้องกับคำว่า “เราชนะ” ซึ่งความหมายดี

ในช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 150 ปี ศาลเจ้าคะโต มีการย้ายหลายครั้ง หลังจัดตั้งรัฐบาลสมัยเมจิ เมื่อการปกครองโดยซามูไรสิ้นสุดลงได้มีการสร้างศาลเจ้าขึ้นในปี 1871 ในชื่อ “ศาลเจ้านิชิกิยามะ” ตั้งอยู่ระหว่างฮอนมารุกับหอคอยอุโตะบริเวณใจกลางปราสาทคุมาโมโตะในปัจจุบัน ต่อมาในปี 1874 กองทัพจักรพรรดิได้มาตั้งค่ายอยู่ที่ปราสาทคุมาโมโตะ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเ ข้ามาในเขตค่ายทหารเพื่อสักการะศาลเจ้าได้ จึงทำการย้ายไปที่เคียวมะจิ ในเมืองคุมาโมโตะทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงปราสาท

ต่อมาในปี 1884 เปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลเจ้าคะโต” และในปี 1962 ต้องย้ายอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการก่อสร้างถนนสายใหม่ ซึ่งครั้งนี้ย้ายกลับไปอยู่ในพื้นที่ของปราสาท ด้านเหนือของที่เดิม มีการขยับประตู “ฮาเซะกาตะ” เพื่อเปิดทางสำหรับย้ายศาลเจ้า และเพื่อเป็นการลดความเสียหายหากเกิดไฟไหม้ จึงใช้วัสดุคอนกรีตในการก่อสร้าง ซึ่งตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2016 ก็ลดความเสียหายไปได้เยอะมาก

สรรเสริญทาสผู้ซื่อสัตย์

จากศาลเจ้ามองเห็นหอคอยเทนชุคาคุทั้งสองได้อย่างชัดเจน ต้นแปะก๊วยที่มีมาแต่โบราณ ว่ากันว่าปลูกโดย คะโต คิโยมาสะ ส่วนสะพานหินนั้นท่านคิโยมาสะนำกลับมาจากเกาหลี ซึ่งเชื่อกันว่าหากเดินข้ามสะพานนี้ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูง ในปี 1611 เมื่อท่านคิโยมาสะเสียชีวิต ผู้รับใข้ 2 คน ได้แสดงความซื่อสัตย์ต่อเจ้านายด้วยการฆ่าตัวตายตาม นั่นก็คือ “คินคัง” ชาวจีน (บางตำราบอกว่าเป็นชาวเกาหลี) ที่ท่านคิโยมาสะ พากลับมาด้วยเมื่อครั้งเข้าร่วมสงครามอิมจิน และ “คาเนะโยชิ โอกิ” เจ้าหน้าที่การคลัง ผู้รับใข้ทั้งสองได้รับการเซ่นไหว้บูชา ไว้ ณ ศาลเจ้าคะโตแห่งนี้