พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่การสู้รบที่ทาบารุซากะ ในปี 1877 ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดในสงครามเซนัน การสู้รบนี้กินเวลาต่อเนื่อง 17 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. ถึง 20 มี.ค. จบลงด้วยชัยชนะของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล จุดที่เป็นสนามรบคือทางลาดบนเนินเขา 2 ลูก และแผ่ขยายไปยังแอ่งที่อยู่ระหว่างเนินเขา ซึ่งปัจจุบันคือสวนที่มีต้นซากุระและพุ่มดอกอาซาเลียปลูกเอาไว้

จากการที่รัฐบาลสมัยเมจิลงมติปฏิรูปในปี 1868 เหล่าซามูไรแคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือคาโงชิมะ) เกิดความหวั่นเกรงเกี่ยวกับสถานะของตนเอง จึงตัดสินใจนำทัพไปโตเกียวเพื่อก่อกบฏ ระหว่างมุ่งหน้าขึ้นเหนือได้หยุดปิดล้อมปราสาทคุมาโมโตะ โดยมีกองทัพที่ภักดีต่อรัฐบาลเมจิเป็นผู้ปกป้องปราสาทคุมาโมโตะเอาไว้ และจากข้อความที่ว่า “หากปราสาทล้มลง รัฐบาลก็จะอ่อนแอ” ถูกส่งไปทั่ว ทำให้รัฐบาลมองว่ากบฏหัวเมืองมีโอกาสที่จะขยายไปเป็นสงครามกลางเมืองได้ จึงตัดสินใจว่าต้องเอาชนะเท่านั้นและส่งกองกำลังไปตีวงล้อมของฝ่ายกบฏ ถึงแม้กองทัพกบฏจะชำนาญในวิชาดาบซึ่งได้เปรียบในการสู้ระยะประชิด แต่กองทัพรัฐบาลมีกำลังทหารเหนือกว่า (อีกทั้งมีปืนที่นำเข้าจากอังกฤษ) จึงได้เปรียบในการสู้รบระยะไกลและได้ชัยชนะในที่สุด

สาเหตุของสงคราม

ค้นหาสาเหตุของการเกิดสงครามที่ห้องจัดแสดงห้องแรก ส่วนห้องถัดไปมีการฉายวีดิทัศน์จำลองเหตุการณ์สู้รบที่ทาบารุซากะ โดยใช้ฉากสามมิติประกอบแสงและเสียงที่อลังการ อุปกรณ์ประกอบฉากที่ใช้เป็นของที่ขุดพบในบริเวณที่เคยเป็นสนามรบอันดุเดือดที่สุด ต่อมาเป็นการจัดแสดงเครื่องแต่งกายและอาวุธของทั้งสองฝ่าย โดยซามูไรฝ่ายกบฏแต่งชุดธรรมดา ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นทหารเกณฑ์จะได้รับแจกชุดเครื่องแบบทหาร ปืนที่ใช้ในการสู้รบส่วนใหญ่เป็นปืนสไนเดอร์รุ่นใหม่ที่บรรจุกระสุนท้ายลำกล้องซึ่งยิงได้รวดเร็วกว่าการบรรจุทางปากกระบอกแบบรุ่นเก่า การที่กองกำลังฝ่ายกบฏต้องนำลูกกระสุนที่ใช้แล้วไปหลอมทำขึ้นใช้ใหม่ก็เป็นจุดที่ด้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล และยังถูกบีบให้จนมุม เมื่อเงินทุนหมดต้องพิมพ์ธนบัตรพิเศษซึ่งใช้ได้แต่เฉพาะภายในแคว้นซัตสึมะเท่านั้น

ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ มีโกดังที่ยังหลงเหลือร่องรอยจากการสู้รบ เป็นโกดังที่สร้างเลียนแบบของจริงที่เคยตั้งอยู่บริเวณนี้ในอดีต ที่นี่ยังมีคำอธิบายอีกว่า เมื่อท่านเคาน์ซึเนะทามิ ซาโนะ (1822–1902) รู้ข่าวว่ามีผู้บาดเจ็บล้มตายจากสงครามเซนันเป็นจำนวนมาก จึงได้ก่อตั้งสมาคมการกุศล “ฮะคุไอชะ” ขึ้น ซึ่งต่อมาคือสภากาชาดญี่ปุ่นนั่นเอง